“เริ่มต้นโอบรับทุกความหลากหลายและสร้างการมีส่วนร่วม : Embracing Diversity and Inclusion”
มูลนิธิเอ็มพลัส องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะเยาวชนร่วมกับ Bangkok Interdisciplinary Research and Development CO., Ltd. (BIRD) จัดเปิดตัวโครงการ “ลูกแก้ว” (Luke Kaew: Beloved Young One Project) ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) ภายใต้แนวคิด “เริ่มต้นโอบรับทุกความหลากหลายและสร้างการมีส่วนร่วม: Embracing Diversity and Inclusion” เพื่อส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของเยาวชนหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ที่นำร่องผ่านโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง โดยมีการพัฒนากลไกแบบบูรณาการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในโรงเรียน อีกทั้งกลไกของ To Be Number One ในโรงเรียนที่ดำเนินงานส่งเสริมสุขภาวะ
การเปิดตัวโครงการลูกแก้วจัดขึ้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 – 12.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมี นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย คุณภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการอำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. เป็นประธานเปิดงาน คุณพงศ์ภีระ พัฐภีระพงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส กล่าวต้อนรับและวัตถุประสงค์ของโครงการลูกแก้ว ของการดำเนินงานของเอ็มพลัสที่จะสนับสนุนเยาวชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เห็นได้จากงานในครั้งนี้ที่มีภาคีร่วมจัดงานจากสำนักอนามัย, สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร พร้อมกับเครือข่ายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
โครงการลูกแก้ว: สะท้อนความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านจิตสังคมของเยาวชน LGBTQI+ โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นมิตร ลดความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติในโรงเรียน พร้อมทั้งส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในโรงเรียนนำร่องจำนวน 10 แห่งในกรุงเทพมหานคร โดยคาดหวังที่จะสร้างต้นแบบของโรงเรียนที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างทางเพศอย่างแท้จริง คำว่า “ลูกแก้ว” มีความหมายสองประการ ในความหมายแรกคือ ลูกอันเป็นที่รัก ลูกอันเป็นแก้วตาดวงใจ สะท้อนถึงแนวคิดของไทยที่เปรียบถึงลูกที่เป็นแกวตาดวงใจของพ่อแม่ ความหมายที่สองหมายถึง แก้วหินอ่อนใส ภายในมีสีสันที่แตกต่างกัน เป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างภายในของเด็กแต่ละคน ซึ่งเปรียบเสมือนการยอมรับในความหลากหลายของเยาวชน LGBTQI+ โครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของวัยรุ่นกลุ่มนี้ เพื่อให้พวกเขามีสุขภาวะที่ดี (Well-being) และคุณภาพชีวิตที่มีความหมาย โดยจะใช้กลไกต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพ การส่งเสริมการเคารพสิทธิของมนุษย์ และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก
โดยทาง นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีเปิดว่าทางกรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุนโครงการลูกแก้ว ส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของเยาวชนและผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและการระดมทรัพยากรจากแหล่งทุนต่าง ๆ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้วัยรุ่นและเยาวชนหลากหลายทางเพศในกรุงเทพมหานคร มีสุขภาวะที่ดี (Well-being) โดยมี 4 นโยบายหลักที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1.) ให้การศึกษาพัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก(เรียนดี) 2.) สนับสนุนการจัดเทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพมหานคร(Pride Month) (สร้างสรรค์ดี เศรษฐกิจดี) 3.) หน่วยงานกรุงเทพมหานครเข้าใจสนับสนุนเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายทางเพศ(ปลอดภัยดี) และ 4.) นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพทางเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK PRIDE CLINIC) (สุขภาพดี)
ไฮไลท์กิจกรรมในงานเปิดตัว:
- การแสดงจากเยาวชนในโครงการTo Be Number One ที่สะท้อนพลังแห่งการสร้างสรรค์และการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน สำหรับเยาวชน LGBTQI+
- การเสวนาหัวข้อ “พลังบวกเชิงลบ ที่กระทบสุขภาพจิต” โดยตัวแทนเยาวชน ครู นักจิตวิทยา และ Influencer ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
- บูธนิทรรศการที่จัดขึ้นภายในงานนี้ยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการและกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาวะในโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมของเยาวชน LGBTQI+
มูลนิธิเอ็มพลัส จึงได้ดำเนินงานร่วมกับ Bangkok Interdisciplinary Research and Development CO., Ltd. (BIRD) ภายใต้ “โครงการลูกแก้ว” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการการเสริมสร้างทักษะชีวิตรวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ ยอมรับในความแตกต่างและเคารพซึ่งกันและกัน ในกลุ่มวัยรุ่นความหลากหลายทางเพศ LGBTQI+ และการพัฒนาตัวตนในทิศทางที่บวก เพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลสนับสนับสนุนผ่านกลไกที่ช่วยเหลือวัยรุ่นให้เติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดีให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อไป